Home » “แพลตฟอร์มเสียง” ทางเลือกใหม่สำหรับการสร้างโอกาสของแบรนด์

“แพลตฟอร์มเสียง” ทางเลือกใหม่สำหรับการสร้างโอกาสของแบรนด์

13 October 2021


“ความนิยมแพลตฟอร์มเสียงไม่แผ่วเลย”

ปัจจุบันกระแสของแพลตฟอร์มเสียงยังคงได้รับความสนใจไปทั่วโลก สังเกตได้จากช่วงต้นปีที่มีการเปิดตัว Clubhouse ทำให้ยอดดาวน์โหลดเพิ่มสูงขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ และล่าสุดทาง Facebook ได้ประกาศฟีเจอร์ใหม่สำหรับแพลตฟอร์มเสียงที่มีชื่อว่า Facebook Live Audio Room จากความนิยมนี้หากแบรนด์นำแพลตฟอร์มเสียงมาใช้ทางการตลาดก็ถือเป็นการสร้างความแตกต่างในรูปแบบใหม่ให้กลุ่มลูกค้าสนใจได้

สิ่งแรกที่แบรนด์ควรจะเริ่มต้นก่อนการนำแพลตฟอร์มเสียงมาใช้ แบรนด์จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดให้เข้าใจว่าแต่ละตัวนั้นมีลักษณะอย่างไร โดยแพลตฟอร์มเสียงที่ทุกคนรู้จักกันดี คือ Audio Content ในรูปแบบของ Podcast ที่ให้สาระความรู้ ความบันเทิงต่างๆ นอกเหนือการฟังเพลง โดย Podcast สามารถให้ทุกคนเลือกฟังคอนเทนต์ที่ตรงกับความต้องการได้ทุกที่ทุกเวลา เหมาะสำหรับแบรนด์ที่เน้นให้ความรู้และความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เพราะ Podcast จะมีหลายตอนให้เราสามารถเลือกฟังได้

ส่วนแพลตฟอร์มเสียงที่เน้นเรียลไทม์ อย่าง Clubhouse, Twitter Space และ Facebook Live Audio Room ก็ถือเป็นการทำ Audio Content ในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจาก Podcast โดยเป็นการสนทนาในรูปแบบรายการสดที่ให้ทุกคนมาร่วมพูดคุยกันถึงประเด็นที่น่าสนใจ หากผู้ฟังมีคำถามก็สามารถถามกันสดๆ ณ ตอนนั้นได้เลย

การทำ Audio content ในรูปแบบใหม่นี้ จึงมีเสน่ห์ชวนให้ติดตาม เนื่องจากเป็นเสียงรายการสดจึงไม่สามารถกลับมาฟังย้อนหลังเหมือนกับ Podcast ที่จะเลือกหยิบขึ้นมาฟังเวลาไหนก็ได้ และเป็นที่มาของคำว่า “FOMO” ที่ย่อมาจาก Fear of Missing Out สำหรับคนที่ไม่ชอบตกกระแส ต้องรู้ทันเทรนด์ก่อนใคร ซึ่งเหมาะสำหรับแบรนด์ที่เน้นการสื่อสารกับลูกค้าแบบฉับไวทันที เพราะสามารถสื่อสารได้โดยไม่ต้องใช้การตัดต่อเสียงเข้ามาประกอบ

ซึ่งเทคนิคในการเลือกทำ Audio content สำหรับแพลตฟอร์มเสียงที่ดี ประกอบไปด้วย 4 อย่าง ดังนี้

1.คุณภาพเสียง: มีเสียงชัดเจน ฟังแล้วลื่นไหล ปราศจากเสียงรบกวนต่างๆ
2.ภาษาและบรรยากาศ: มีวาทศิลป์ในการพูด และสร้างบรรยากาศให้คนฟังสามารถจินตนาการตามได้
3.เนื้อหา: มีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น และมีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ และตรงกลุ่มเป้าหมาย
4.ความสม่ำเสมอ: มีการจัดทำคอนเทนต์ให้ได้รับฟังอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

จากเทคนิค 4 ข้อนี้จะช่วยเสริมสร้างโอกาสในการเพิ่มผู้ติดตามจนกลายเป็นฐานแฟนคลับที่สนับสนุนผลงานของแบรนด์ในระยะยาวได้ อีกทั้งยังช่วยต่อยอดในการสร้างรายได้ผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับการทำ Audio Content เช่น การจัดอีเวนต์เปิดตัวหนังสือจากการรวบรวมข้อมูล Podcast หรือ Clubhouse ที่น่าสนใจ

ดังนั้นการทำ Audio Content ผ่านแพลตฟอร์มเสียง จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจให้แบรนด์สามารถสื่อสารทางการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์เวลาที่มีจำกัดของกลุ่มเป้าหมายให้สามารถรับฟังควบคู่กับการทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยได้