“ประตูที่นำพาไปสู่โอกาสใหม่ๆ เกิดจากผลงานที่สร้างสรรค์”
พื้นฐานของการสร้างงานโฆษณาให้มีความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์สไตล์แรบบิทส์เทลล์ ล้วนเกิดจากโจทย์ที่ได้รับจากลูกค้า ซึ่งถูกนำมาออกแบบภายใต้กรอบแนวคิด “Effective Creativity” ความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีต่อการบรรลุเป้าหมายที่คาดหวังได้ โดยกรอบนี้จะเป็นตัวช่วยให้การสื่อสารทางการตลาดมีความแตกต่าง และความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะงานโฆษณาที่ปล่อยออกไปไม่ได้ถูกนำมาเปรียบเทียบแค่เฉพาะประเภทสินค้าเดียวกัน แต่ถูกนำมาเปรียบเทียบรวมกันทั้งตลาดเพื่อแย่งชิงความสนใจของผู้บริโภค
สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด คือเราต้องสร้างผลงานที่ดึงดูดใจ ผ่านการเรียนรู้และเข้าใจผู้บริโภค ณ ตอนนั้น เนื่องจากในยุคดิจิทัลพฤติกรรมของผู้บริโภคเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เราและทีมงานต้องเรียนรู้ตามเทรนด์ที่เกิดขึ้น ซึ่งผลงานในปี 2015 “อาม่าเผยสูตรลับ…ต้นตำรับจับเลี้ยงแท้” แบรนด์เก๊กหล่อ ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์งานของแรบบิทส์เทลล์ที่เกิดจากการเรียนรู้เทรนด์ผู้บริโภคบน YouTube ที่ชอบกด Skip Ad เพื่อข้ามโฆษณา
โดยนำจุดนี้มาเล่นกับพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านการโฆษณาที่นำเสนอจุดแข็งของแบรนด์ภายใน 5 วินาทีก่อนที่ปุ่ม Skip Ad จะขึ้น และสร้างความท้าทายโดยการบอกให้ผู้บริโภคกดข้ามได้ แต่การบอกให้กดข้ามได้นั้นช่วยกระตุ้น insight ความอยากรู้เพิ่มมากขึ้น ทำให้ยอดวิวของผู้บริโภคไม่กดข้ามและตั้งใจดูคลิปโฆษณาตั้งแต่ต้นจนจบมีจำนวนสูงมาก
โฆษณาเก๊กหล่อนี้จึงถูกนำไปใช้เป็น Case Study ของทาง Google Thailand ที่สะท้อนให้เห็นถึงการใช้แพลตฟอร์มในการทำสื่อโฆษณาทางการตลาดอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ยังได้รับ Finalist จากเวที Adman ที่จัดขึ้นโดยสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย จากจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์งานที่โดดเด่นถือเป็นประตูที่นำพาโอกาสที่ดีเข้ามาให้แรบบิทส์เทลล์ได้แสดงศักยภาพในการโชว์ผลงานต่างๆ ออกสู่สายตาผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ
ทั้งนี้ยังสร้างโอกาสดีๆ ที่ทำให้แรบบิทได้รับรางวัลทั้งเวทีในประเทศ เวทีภูมิภาคเอเชีย และเวทีระดับนานาชาติ เพื่อการันตีคุณภาพผลงานจากหลากหลายชิ้นงานที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบชั้นเยี่ยมในการผลิตงานโฆษณาที่สร้างสรรค์ นอกจากกระบวนการคิดงานแบบ Effective Creativity แล้ว สิ่งที่ทำให้ผลงานของแรบบิทส์เทลล์มีความแตกต่างได้ เกิดจากหลักการทำงานที่เรียกว่า “เป็น อยู่ คือ” กับผู้บริโภค
ในวันที่เราจะต้องสื่อสารกับผู้บริโภค สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการเข้าใจเขาก่อน โดยใช้คำว่า “เป็น” เราต้องเป็นในแบบที่เขาเป็นและพูดจาภาษาเดียวกับเขา เพื่อทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างราบรื่น เหมือนเป็นการเชื่อมโยงระหว่างคนสองคนให้คลิ๊กกันได้เร็วขึ้น และคำว่า “อยู่” เราต้องไปอยู่ในที่ที่เขาอยู่ด้วย เพราะถ้าพูดไปแต่ไร้คนฟังก็เท่ากับศูนย์ ดังนั้นการพูดจาภาษาเดียวกันก็ต้องไปอยู่ในที่เดียวกันด้วย ส่วนคำว่า “คือ” ก็คือยึดถือคุณค่าสิ่งที่มีความหมายต่อเรื่องเดียวกัน ซึ่งเป็นตัวเร่งความสัมพันธ์ให้สามารถเข้าใจกันได้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ตอนนี้เรื่องสภาวะจิตใจที่เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจและให้คุณค่าเหมือนกัน พอเราเข้าไปสื่อสารเรื่องนี้กับเขา ส่งผลให้เรื่องนี้น่าดึงดูดใจและคล้อยตาม หลักการทำงาน “เป็น อยู่ คือ” จึงเป็นสิ่งที่แรบบิทส์เทลล์นำมาใช้อยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการทำงานในสไตล์แรบบิทส์เทลล์ที่ไม่ได้มองแค่เพียงผลลัพธ์ระยะสั้น แต่มองไปถึงเป้าหมายระยะยาวที่แท้จริงของผลงาน เพื่อทำให้งานโฆษณาที่แบรนด์ไว้วางใจให้เราสร้างสรรค์ไปได้ไกล สามารถตอบโจทย์ที่มีอยู่ได้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งเป็นต้นแบบของการทำงานโฆษณาที่โดดเด่นและสร้างสรรค์ให้กับทุกคน